Local Link
เที่ยวเดี่ยวก็มัน เที่ยวด้วยกันก็สนุก
เที่ยวเท่ๆ เดินทางเองง่ายๆ กับตัวอย่างแผนการเดินทางเชื่องโยง A-B-C
A : Additional ท่องเที่ยวเชื่อมโยงเมืองหลักและเมืองรอง
B : Brand New ท่องเที่ยว 55 เมืองรอง
C : Combination ท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างเมืองรองและเมืองรอง
น่าน
4 วัน 3 คืน
วันที่หนึ่ง
- ออกเดินทางไปบ้านบ่อสวก อ.เมือง
- เยี่ยมชมเตาเผาโบราณบ้านบ่อสวกและพิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่นเพื่อเรียนรู้การดำรงชีวิตของคนท้องถิ่นและลงมือทำลองทำเครื่องปั้นดินเผาตามวิถีชุมชนบ่อสวก
- ออกเดินทางไปบ้านศรีนาป่าน อ.เมือง
- เยี่ยมชมไร่ชาเมี่ยง (ชาพันธ์อัสสัมจากอินเดีย) วิถีการเก็บชาเมี่ยงโบราณ ๔๐๐ ปี พร้อมวิถีการแปรรูปจากใบชาสู่เมี่ยงหรืออาหารจากใบชา
- เยี่ยมชมวัดพระธาตุเขาน้อย และทิวทัศน์เมืองน่านยามเย็น วัดพระธาตุเขาน้อยเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน (สันนิษฐานกันว่าอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพระธาตุแช่แห้ง) เป็นที่ประดิษฐานองค์พระธาตุเจดีย์ ก่ออิฐถือปูนศิลปะพม่าผสมล้านนา ภายในบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าบริเวณใกล้ ๆ กันได้รับการยกย่องว่า เป็นจุดชมวิวเมืองน่านที่สวยที่สุด โดยเฉพาะแสงแรก โดยบนลานยอดดอยเขาน้อยเป็นที่ประดิษฐานพระมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน พระพุทธรูปปางลีลาองค์ใหญ่ ซึ่งสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 72 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2542
- เข้าที่พักโฮมสเตย์บ้านหาดผาขน (บ้านหาดผาขนมีอายุเกือบ 100 ปี เป็นชุมชนเล็กๆ ที่ทอดยาวขนานไปกับลำน้ำน่าน ชาวบ้านยังคงพึ่งพิงธรรมชาติอย่างใกล้ชิด)
วันที่สอง
- เรียนรู้และศึกษาระบบนิเวศป่าชุมชน ล่องแพชมสองฝั่งลำน้ำน่าน ดูปลานานาชนิดที่ชาวบ้าน บ้านหาดผาขนร่วมกันอนุรักษ์
- ออกเดินทางสู่ อ.บ่อเกลือ
- เยี่ยมชมหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในด้านการทำเกลือบนภูเขาที่ไม่มีที่ใดเหมือน ทั้งนี้ฟังบรรยายจากปราชญ์ชาวบ้านถึงวิถีชีวิตและกรรมวิธีการทำเกลือสินเธาว์ (ภูเขา) ในแบบของชาวน่าน
- ปั่นจักรยานชมวิถีชีวิตของชาวอำเภอบ่อเกลือ
- เข้าที่พักโฮมสเตย์บ้านแจรงหลวง (เป็นชุมชนเผ่าลัวะตั้ง ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี)
วันที่สาม
- เดินทางสู่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา เยี่ยมชมศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้า ชมการปลูกชาอู่หลง มัลเบอรรี่ พร้อมเลือกซื้อของฝากของที่ระลึกของทางศูนย์
- ออกเดินทางสู่ อ.ท่าวังผา
- เยี่ยมชมวัดหนองบัว วัดไทลื้อ สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2405 ถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมล้านนา ซึ่งยังคงสภาพสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่ง มีสถาปัตยกรรมไทลื้อแบบ “เตี้ยแจ้” หรือทรงโรงที่งดงาม หน้าจั่วประดับด้วยไม้แกะสลักรูปดอกลอย อันเป็นลวดลายดั้งเดิมของไทลื้อ ภายในวิหารตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่สอดแทรกสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทลื้อในสมัยนั้น เช่น การแต่งกาย ผู้หญิงนุ่งซิ่น ผู้ชายนิยมสักตั้งแต่หน้าท้องจนถึงต้นขา เป็นต้น
- เยี่ยมชมหอศิลป์ริมน่าน ก่อตั้งโดยศิลปินชาวน่าน (อ.วินัย ปราบวินัย) ประกอบด้วยสตูดิโอ (ที่ทำงานศิลปะ) และอาคารหอศิลป์ ซึ่งเป็นอาคาร 2 ชั้น เป็นสถานที่จัดแสดงภาพผลงานศิลปะทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และสื่อผสม ที่รังสรรค์เอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนที่ใด นอกจากนี้ยังมี “เฮือนหนานบัวผัน” สถานที่จัดนิทรรศการภาพถ่ายประวัติจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ และวัดหนองบัว เพื่อเชิดชูเกียรติศิลปินหนานบัวผัน ผู้รังสรรค์จิตรกรรม ฝาผนังในวัดดังกล่าว
- เข้าที่พัก ในเมืองน่าน
วันที่สี่
- เยี่ยมชมวัดพระธาตุแช่แห้ง สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 20 ในสมัยพระยาการเมือง เจ้าผู้ครอง นครปัว เนื่องจากท่านได้เดินทางมาที่กรุงสุโขทัยเพื่อช่วยสร้างวัดหลวงอภัย พระยาโสปัตตกันทิ (สันนิษฐานคือพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย)) ผู้ครองเมืองสุโขทัย จึงมอบพระธาตุให้เพื่อตอบแทนน้ำใจ พระยาการเมืองอัญเชิญพระธษตกลับมายังเมืองปัว แล้วสร้างเจดีย์พระธาตุแช่แห้งขึ้นบนยอดภูเพียงแช่แห้ง เพื่อประดิษฐานพระธาตุ นับว่าพุทธศาสนาลัทธิลังหาวงศ์จากรุงสุโขทัยได้เผยแผ่มาสู่ดินแดนน่านนับแต่นั้น เป็นปูชนียสถานที่สำคัญของเมืองน่าน มีอายุกว่า 600 ปี
- เยี่ยมชมวัดภูมินทร์ เดิมชื่อวัดพรหมมินทร์ เป็นวัดหลวง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพ.ศ. 2139 สมัยพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ ต่อมามีการบูรณะใหม่ นานถึง 7 ปี สมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดชราว พ.ศ. 2410-2417 (ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 4)
- เยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน เดิมเป็น “หอคำ” หรือที่ประทับและที่ว่าราชการของเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 63 เมื่อปี พ.ศ. 2446 ต่อมาเมื่อ เจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 64 ซึ่งเป็นองค์สุดท้าย ถึงแก่พิราลัย เจ้านายบุตรหลานจึงมอบอาคารหลังนี้และที่ดินโดยรอบให้แก่รัฐบาลไทย เพื่อใช้เป็นศาลากลางจังหวัดในปี พ.ศ. 2475 จนกระทั้งมีการสร้างศาลากลางจังหวัดหลังใหม่
- เยี่ยมชมโฮงเจ้าฟองคำ เดิมเป็นบ้านพักของเจ้าศรีตุมมา หลานของเจ้ามหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 11 สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2384-2400 และตกทอดมาถึงเจ้าฟองคำ แต่เดิมตัวโฮงเป็นไม้สักประกอบด้วยวิธีใส่สลักไม้ หลังคามุงแป้นเกล็ด ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินขอ บนประตูซึ่งเชื่อมต่อระหว่างหน้าโฮง และในเฮือนมี “หำยนต์” ไม้แกะสลักลงยันต์เป็นเครื่องรางไว้ป้องกันสิ่งชั่วร้าย ใต้ถุนเรือน เป็นที่ทอผ้าและทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นที่สาธิตการทอผ้าและย้อมผ้า นอกจากนี้ยังเป็นที่จำหน่ายผ้าทอและของที่ระลึก
- นั่งรถรางชมเมืองสัมผัสชีวิตชาวเมืองน่านอย่างใกล้ชิด และจอดแวะชมวัดอารามเก่าแก่ อาทิ วัดช้าค้ำ วัดหัวข่วง วัดศรีพันต้น วัดสวนตาล วัดดอนแก้ว เป็นต้น
- เดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยสวัสดิภาพ
หมายเหตุ : กำหนดการอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม
กลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมาย คือ Gen Y/Lifestyle/Family